แบบทดสอบเพื่อตรวจสอบสุขภาพการเงินของบริษัท ด้วย F-Score

ทราบไหมครับว่า บริษัทฯของเราตอนนี้มีการเงินที่แข็งแกร่งอยู่หรือเปล่า?

แน่นอนครับว่า เริ่มต้นเลยต้องให้ความสนใจกับงบการเงินของบริษัทอย่างจริงจัง ทุกปี ทุกไตรมาส หรือทุกเดือนได้เลยยิ่งดีครับ ต้องติดตามตรวจสอบสัดส่วนทางการเงินต่าง ๆ ที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ และก็ใช้สัดส่วนทางการเงินที่ทำขึ้นนั้น มาใช้ในเครื่องมือที่ชื่อว่า F-Score

 

F-Score คือ เครื่องมือการจัดลำดับความมั่นคงทางการเงิน โดย Mr. Joseph D. Piotroski ซึ่งเป็นการตอบคำถามเพียง 9 ข้อเท่านั้นครับ ตามที่แสดงอยู่ด้านขวามือ (หรือด้านบน) โดยแต่ละข้อเราจะต้องตอบเพียงแค่ว่า ใช่ (1 คะแนน) หรือไม่ใช่ (0 คะแนน) แค่นั้น

ถ้าผลออกมาว่า 0 คะแนน คือ แย่มาก, 5 คือ ดี และ 9 คือ ยอดเยี่ยม

    • 9 คะแนนนี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
    • 4 คะแนนแรก (ข้อ 1-4) เป็นคำถามเกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไร (กำไรไหม กำไรดีขึ้นไหม มีเงินสดเพิ่มไหม เงินที่เพิ่มมากกว่ากำไรสุทธิไหม)
    • 3 คะแนนต่อมา (ข้อ 5-7) เป็นคำถามเกี่ยวกับความสามารถในการอยู่รอด/สภาพคล่อง (หนี้สินลดลงไหม, มีเงินพอจ่ายหนี้ระยะสั้นมากกว่าปีก่อนไหม, มีเพิ่มทุนไหม)
    • 2 คะแนนสุดท้าย (ข้อ 8-9) เป็นคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพการดำเนินงาน (อัตรากำไรดีขึ้นกว่าปีก่อนไหม, สินทรัพย์ที่มีอยู่สร้างยอดขายได้มากกว่าเดิมไหม)

ทำไม 5 คะแนนจึงถือว่าดีแล้ว อันนี้ต้องลองมาสมมติตัวอย่างกันดูครับ เช่น

บริษัทที่ 1 กำไร (1) แต่น้อยกว่าปีที่แล้ว แต่มีอัตรากำไรดีขึ้นกว่าปีก่อน (1) ทำให้สามารถมีเงินไปชำระหนี้สินได้มากขึ้น (1) แน่นอนว่า ถ้าแบ่งเงินสดเก็บไว้ส่วนหนึ่ง ก็จะทำให้ มีเงินสดเพิ่ม (1) และมีเงินพอจ่ายหนี้ระยะสั้นมากกว่าปีก่อน (1) รวมเป็น 5 คะแนน

บริษัทที่ 2 ขาดทุน แต่ขาดทุนน้อยกว่าปีที่แล้ว (1) เพราะอัตรากำไรดีกว่าปีก่อน (1) มีการเพิ่มทุน (1) ทำให้มีเงินสดเพิ่มขึ้น (1) มีเงินพอจ่ายหนี้ระยะสั้นมากกว่าปีก่อน (1) รวม 5 คะแนนเช่นกัน

จะเห็นว่า คำถาม 3 ด้านมันจะมีความเกี่ยวพันกันอยู่

 

ทีนี้ลองมาดู บริษัทที่ 2 อีกครั้ง แล้วสมมติว่า ไม่มีการเพิ่มทุน เป็นไปได้ที่จะคะแนนลดลงมา เหลือเพียง 2 คะแนน เพราะเงินสดที่เพิ่มจากอัตรากำไรที่ดีขึ้น อาจไม่เพียงพอต่อการดอกเบี้ย ทำให้เงินสดไม่เพิ่ม หนี้สินระยะสั้นสถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น

 

แล้วถ้าคะแนนน้อยกว่า 5 ควรทำ 5 เรื่องต่อไปนี้ โดยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับข้อแรก ๆ ก่อน ดังนี้

    1. ควบคุมต้นทุน และ/หรือ เพิ่มประสิทธิภาพ
    2. ขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกไป
    3. เพิ่มยอดขาย
    4. ปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสเงิน
    5. เพิ่มทุน

อย่างไรก็ดี หลายบทความ บอกว่า 3 คะแนน ก็ไม่ถือว่าไปไม่รอดนะครับ เพราะในช่วงสภาพเศรษฐกิจซบเซา ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโลโนยี แค่ 3 คะแนนก็ถือว่าเก่งแล้ว แต่ไปรอด หรือไปร่วง ก็ต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปครับ

 

บทความมาถึงจุดนี้แล้ว ผมคิดว่าท่านคงอยากทดลองทำแบบทดสอบแล้วนะครับ แต่ก่อนทำแบบทดสอบ อย่าลืมไปเอา งบการเงินมาคำนวณหา ROA, CFO, D/E, Current Ratio, อัตรากำไรขั้นต้น และ Asset Turn Over ก่อนนะครับ ผมโน๊ตสูตรคำนวณไว้ในแบบทดสอบให้แล้วด้วยครับ แต่ถ้าทำไม่ได้จริง ๆ รบกวนติดต่อที่ปรึกษาของท่านเลยครับ พวกเราพร้อมให้คำแนะนำครับ

 

อ้างอิง :

https://www.finnomena.com/investdiary/f-score/

http://www1.yuantathai.com/upload/Manual_PortfolioManagement.pdf

Posted in ห้องสมุด

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

*