การบันทึกต้นทุนสินค้านำเข้า ตอนที่ 1

    image002

    เดือนที่ผ่านมาทีมงาน Consult ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนลูกค้าที่ใช้ระบบงาน ECONS หลายราย พบว่ามี Feature ของระบบงาน ECONS ที่ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ แต่ลูกค้ายังไม่ได้นำมาใช้งาน เนื่องจากขาดความเข้าใจ หรือในช่วงแรกของการ Implement ยังไม่มีความพร้อมที่จะใช้งาน ผมจึงได้พยายามรวบรวมวิธีการประยุกต์ใช้ Feature เหล่านี้มาเขียนเป็นบทความให้ทุกท่านได้อ่านกัน โดยหวังให้ลูกค้าได้ใช้งานระบบงาน ECONS ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเรื่องแรกที่จะนำมาแชร์ให้ทราบคือ เรื่องการบันทึกต้นทุนสินค้านำเข้า ครับ

    เนื้อหาในบทความนี้แบ่งเป็น 2 ตอน
    ตอนแรกเป็นการอธิบายเพื่อให้ผู้อ่านทำความเข้าใจภาพรวมและเอกสารที่เกี่ยวข้องกันก่อน
    ส่วนตอนที่ 2 เป็นการอธิบายวิธีการบันทึกข้อมูลในระบบ ECONS
    สำหรับท่านที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว เห็นว่าเรื่องนี้ตรงกับกรณีศึกษาที่ท่านมีอยู่ ผมอยากให้ลองทดสอบและวางแผนที่จะใช้งานดู หากติดปัญหาหรือต้องการคำแนะนำ,ฝึกอบรมเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามผมได้โดยตรงที่ kittisak.p@bbs.co.th

    การบันทึกต้นทุนสินค้านำเข้า

    กระบวนการนำเข้าวัตถุดิบมาใช้ในกระบวนการผลิต หรือนำเข้าสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศมาเพื่อขาย เป็นการดำเนินการที่ต้องผ่านขั้นตอน และมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น ผู้ส่งออก, ผู้นำเข้า, ธนาคารตัวแทนทั้งของผู้ผู้ส่งออกและของผู้นำเข้า , กรมศุลกากร, บริษัทเรือ, ตัวแทนนำเข้า เป็นต้น ทีนี้ผู้ใช้งานระบบ ECONS จะบันทึกต้นทุนค่าสินค้า และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการนำเข้าเป็นต้นทุนสินค้าได้อย่างไร

    ก่อนอื่นขออธิบาย Flow การทำงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าสินค้า ( กรุณาดูรูปภาพประกอบ )

     

     

     

     

    เอกสารที่เกี่ยวข้องในกระบวนการนำเข้าสินค้า

    1. PROFORMA INVOICE
      Proforma Invoice เป็นเอกสารยืนยันการสั่งซื้อ โดยผู้ส่งออกสินค้า ซึ่งจะมีรายละเอียดเงื่อนไขการชำระเงิน ,เงื่อนไขการส่งสินค้า, รายการสินค้า, จำนวน, ราคา และรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการชำระเงิน
    2. ใบเสร็จรับเงิน
      กรณีที่มีเงื่อนไข ต้องจ่ายมัดจำค่าสินค้าก่อนโหลดสินค้า ผู้นำเข้าจะต้องทำการโอนเงิน ให้กับธนาคารตัวแทน เพื่อส่งต่อให้กับผู้ส่งออก โดยผู้นำเข้าจะได้รับใบเสร็จรับเงินจากธนาคาร และส่งให้กับผู้ส่งออกเพื่อเป็นหลักฐานการชำระเงิน
    3. Commercial Invoice
      Commercial Invoice เป็นเอกสารที่ออกให้โดยผู้ส่งออก ใช้สำหรับแจ้งหนี้กับผู้นำเข้า ดังนั้น ใน Commercial Invoice จึงต้องแสดงรายการ จำนวน และมูลค่าของสินค้าที่ส่งออก เป็นสำคัญ
    4. Packing List
      Packing List เป็นเอกสารที่ออกให้โดยผู้ส่งออก เพื่อแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนหีบห่อ และน้ำหนักของสินค้าที่จัดส่ง
    5. Bill of Lading
      Bill of Lading หรือ ใบตราสารส่งสินค้า เป็นเอกสารที่บริษัทเรือ ออกให้เพื่อเป็นหลักฐานการรับสินค้าจากผู้ส่งออก ซึ่งผู้ส่งออก จะทำการ Scan เอกสารนี้ ส่งให้กับผู้นำเข้าเพื่อเรียกเก็บเงินค่าสินค้าส่วนที่เหลือ
    6. Invoice ค่าเรือ
      ใบแจ้งหนี้ค่าเรือ และค่าภาระยกขนสินค้า ซึ่งบริษัทเรือ เรียกเก็บกับตัวแทนนำเข้า ประกอบด้วย ค่า Freight (ค่าระวาง) , THC (Terminal Handing Charge : ค่าภาระหน้าท่า) , D/O (Delivery Order :ใบสั่งปล่อยสินค้า) ซึ่งจะต้องหัก ณ ที่จ่าย 1% และ Handing Charge (ค่าภาระยกขน) ซึ่งจะต้องหัก ณ ที่จ่าย 3%
    7. Form D
      Form D เป็นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ที่ออกให้โดยหน่อยงานราชการของประเทศสมาชิกผู้ส่งออก (มาเลเซีย) เป็นเอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นขอใช้สุทธิลดหย่อนภาษีศุลกากร เป็นการลดอัตราภาษีศุลกากรแก่สินค้าที่นำเข้าระหว่างกันของประเทศสมาชิกอา เซียนภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA)ประกอบด้วย10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา
    8. ใบเสร็จรับเงิน
      ใบเสร็จรับเงินค่าสินค้าส่วนที่เหลือ ที่ผู้นำเข้าจ่ายผ่านธนาคารตัวแทน (ประเทศไทย) โดยผู้นำเข้าจะใช้เอกสารนี้เป็นหลักฐานการชำระเงิน ส่งให้ผู้ส่งออก
    9. ใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม
      ใบขนสินค้าขาเข้า เป็นแบบพิมพ์ที่กรมศุลกากรกำหนดให้ผู้นำเข้าต้องยื่นต่อกรมศุลกากรในการนำ เข้าสินค้า โดย แยกเป็น 9 แบบตามประเภทของสินค้า สำหรับตัวอย่างนี้ เป็น ใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งใช้สำหรับการนำเข้าสินค้าทั่วไป รายละเอียดที่สำคัญในใบขน คือ มูลค่าสินค้า , มูลค่าอากรขาเข้า,มูลค่าฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีมูลค่าเพิ่ม
    10. ใบเบิกเงินทดรองจ่าย
      สำหรับตัวอย่างเอกสารชุดนี้ ผู้แทนนำเข้า ได้ทำการเบิกเงินทดรองจ่ายบางส่วน จากผู้นำเข้า เพื่อนำไปจ่ายค่าใช้จ่ายนำเข้าต่างๆ ผู้แทนนำเข้าจึงออกเอกสาร ใบเบิกเงินทดรองจ่ายไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
    11. ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม
      ใบเสร็จรับเงินค่าภาษีอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นหลักฐานการรับเงิน ที่กรมศุลกากร ออกให้ เมื่อตัวแทนนำเข้าชำระเงินภาษีอากรขาเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม
    12. ใบเสร็จรับเงินค่าแคชเชียร์เช็ค
      เมื่อตัวแทนนำเข้า ได้ทำการซื้อแคชเชียร์เช็ค เพื่อชำระเงินค่าภาษีอากรขาเข้า และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงมีใบเสร็จรับเงินค่าแคชเชียร์เช็คออกให้
    13. ใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการผ่านพิธีการ และค่าล่วงเวลาเมื่อตัวแทนนำเข้า ได้ชำระเงินค่าธรรมเนียมการผ่านพิธีการ และค่าล่วงเวลา ให้กับกรมศุลกากร จึงมีใบเสร็จรับเงินออกให้
    14. ใบเสร็จรับเงินค่าบริการจัดส่งข้อมูล
      เมื่อตัวแทนนำเข้า ได้ชำระเงินค่าบริการจัดส่งข้อมูล จึงมีใบเสร็จรับเงินออกให้
    15. ใบเสร็จรับเงินค่า Demurrage Charge
      Demurrage Charge เป็น ค่าเสียเวลาของเรือ หรือค่าเสียเวลาของตู้สินค้าที่ไม่สามารถนำออกจากท่าได้ตามเวลาที่กำหนด
    16. ใบเสร็จรับเงินค่ายกขนสินค้าและค่าเช่าโรงพักสินค้าท่าเรือ
      ใบเสร็จค่ายกตู้ Container และค่าเช่าโรงพักสินค้าท่าเรือ
    17. ใบเสร็จค่าเรือ,ค่าภาระยกขนสินค้า/ใบสั่งปล่อย, Freight Charge
      ใบเสร็จค่าเรือ,ค่าภาระยกขนสินค้า/ใบสั่งปล่อย, Freight Charge
    18. หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่ายค่าเรือ,ค่าภาระยกขนสินค้า/ใบสั่งปล่อย, Freight Charge
      เมื่อตัวแทนนำเข้า ได้ทำการหัก ณ ที่จ่ายค่าเรือ,ค่าภาระยกขนสินค้า/ใบสั่งปล่อย, Freight Charge และออกหนังสือรับรอง หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้นำเข้าไว้
    19. ใบแจ้งหนี้ค่าตัวแทนนำเข้า และค่าใช้จ่ายนำเข้า
      หลังจาก จบขั้นตอนนำเข้าสินค้า ตัวแทนนำเข้าจะทำการรวบรวมเอกสารประกอบการนำเข้าต่างๆ และแจ้งหนี้ค่าบริการตัวแทนนำเข้าและค่าใช้จ่ายต่างๆ กับผู้นำเข้า

    โปรดติดตามฉบับหน้า : การบันทึกข้อมูลในระบบ ECONS

    กิตติศักดิ์ เปรมกิจ
    ผู้จัดการแผนกที่ปรึกษา
    บริษัท บิสซิเนส บูลเลทีน เซอร์วิส จำกัด

Posted in การประยุกต์ใช้ ECONS, คู่มือ ECONS, ห้องสมุด Tagged with: , ,

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

*